หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙


  เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ คณะนักดนตรีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ขึ้น โดยได้รับเงินสนับสนุนจากนายเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดิ ผู้สำนึกในพระปรีชาสามารถทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเงิน ๑๕ ล้านบาท โดยก่อสร้างอาคารต่อเชือมกับอาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร ขยายออกไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคาร ๓ ชั้น ชั้นล่างโล่งให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออกได้ ชั้น ๒ เป็นห้องบริการศึกษาค้นคว้าเพลงพระราชพิพนธ์และพระราชกรณียกิจด้านดนตรี ตลอดจนรวบรวมแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง แผ่นซีดี วีดีทัศน์ รวมทั้งสื่อโสตฯ อื่น ๆ และโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ที่สมบูรณ์ ส่วนชั้น ๓ เป็นห้องจัดแสดงและบรรเลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธเปิด “หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙” ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๐

วัตถุประสงค์ของการจัดสร้าง

♦ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

♦ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมเพลงพระราชนิพนธ์ทุกรูปแบบ ทั้งในลักษณะของสื่อโสตทัศน์ หนังสือ เอกสาร และโน้ตเพลง

♦ เพื่อเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้เข้าศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ถูกต้องและสมบูรณ์

♦ เพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าวิชาการทางด้านดนตรีและให้ความสุขความบันเทิง แก่เยาวชนและประชาชนทุกระดับชั้น

สื่อที่ให้บริการ

หนังสือ เอกสาร รูปภาพ และโน้ตเพลง แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี วีดิทัศน์ และแผ่นเสียง

การจัดแบ่งห้องต่าง ๆ ภายในหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

♦ ชั้น ๑ ส่วนเชื่อมต่ออาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร และโถงบันไดทางขึ้น

♦ ชั้น ๒ ห้องศูนย์ศึกษาการดนตรี จัดแสดงศีรษะครูนาฏศิลป์และดนตรี (พระพิฆเนศร์พระพิราพ และพ่อครูฤษี) จัดแสดงกระบอกเสียง แผ่นเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียงหนังสือเพลงพระราชนิพนธ์ โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์(ลายพระหัตถ์)โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์จัดพิมพ์ครั้งแรก

♦ ชั้น ๓ ห้องจัดแสดงเดิม สำหรับจัดประชุมกลุ่มย่อม จัดเลี้ยงสำหรับการจัดแสดงดนตรี

หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อาคาร ๒ ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคาร ๕ ชั้น เพื่อขยายการให้บริการของหอสมุดดนตรี ในการกรมศิลปากรได้จัดส่วนด้านขวาของตัวอาคารทั้ง ๕ ชั้น เป็นส่วนของการให้บริการของหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสครองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

การจัดแบ่งห้องต่าง ๆ ภายในหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อาคาร ๒ ทางเข้าหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

♦ ห้องเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จัดแสดงนิทรรศการเพลงพระราชนิพนธ์ และในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโสตทัศน์

♦ ชั้น ๑ ห้องบริการเพลงพระราชนิพนธ์ ให้บริการศึกษาค้นคว้าเพลงพระราชนิพนธ์ พระราช-กรณียกิจด้านดนตรี โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์และบริการสืบค้นด้วยระบคอมพิวเตอร์

♦ ชั้น ๒ ห้องจัดแสดงดนตรี

♦ ชั้น ๓ ห้องควบคุมเสียง ควบคุมระบบไฟฟ้า

♦ ชั้น ๔ ห้องอนุรักษ์แผ่นเสียง

♦ ชั้น ๕ มูลนิธิหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร


 ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับเพลงไทย และเพลงสากล ไว้เป็นมรดกสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ และเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการดนตรี อันจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนและเยาวชนของชาติในการศึกษาค้นคว้าเรื่องดนตรีไทยและดนตรีสากล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธิเปิดอาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗


วัตถุประสงค์การจัดสร้าง


๑. เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลในมหามงคลวโรกาสที่ทรงพระเจริญพระชันษา ครบ ๓ รอบ
๒. เพื่ออนุรักษ์เพลงไทย ไทยสากล ลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมือง ไว้เป็นสมบัติของชาติ
๓. เพื่ออนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีและส่งเสริมพัฒนาการด้านดนตรีให้สืบทอดถึงปัจจุบัน
๔. เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการดนตรีสำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า วิจัย ดนตรีไทย ไทยสากล ไทยลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมือง แผ่นเสียง วีดิทัศน์ และสื่อเสียงประเภทอื่น ๆ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการค้นหาข้อมูล
๕. เป็นศูนย์กลางการประสานงานกับองค์กรและสมาคม ทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชน
๖. ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรัก ความสนใจ เห็นคุณค่า และนิยมเพลงไทย
๗. เผยแพร่กิจกรรมดนตรีไทย ไทยสากล ไทยลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมืองให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เกิดความซาบซึ้งในดนตรี
๘. เพื่อเป็นแหล่งผลิตข้อมูลวิชาการทางดนตรีพร้อมที่จะเผยแพร่ และเชื่อมโยงกับห้องสมุดดนตรีแหล่งอื่น ๆ ที่มีและจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต